Udon Salad (สลัดอูด้ง)

Print

จริงๆแล้วอูด้งมีที่มาจากประเทศจีน ญี่ปุ่นได้รับมาดัดแปลงอีกที ชาวญี่ปุ่นมักทานอูด้งร้อนใส่ซุปหรือทานเย็นกับน้ำซอส ส่วนประกอบของอูด้งมีอยู่ไม่กี่อย่าง ลักษณะของเส้นอูด้งที่โดดเด่นคือ ความเหนียวของเส้น เราจะทำเส้นอูด้งก่อนที่จะนำไปปรุงเป็นเมนูสลัดง่ายๆ

ที่มา

สูตรโดย : พล ตัณฑเสถียร

ส่วนประกอบ


  • เส้นอูด้ง

  • แป้งสาลีอเนกประสงค์250 กรัม

  • เกลือ10 กรัม

  • น้ำ115 กรัม

  • แป้งข้าวโพดสำหรับนวล

  • น้ำสลัดงา

  • งาขาว1 ช้อนโต๊ะ

  • โชยุสีอ่อน2 ช้อนชา

  • น้ำตาลทราย2 ช้อนชา

  • น้ำส้มสายชูข้าว1 ช้อนโต๊ะ

  • น้ำมันงา1⁄4 ช้อนชา

  • น้ำมันรำข้าว3 ช้อนโต๊ะ

  • ส่วนประกอบอื่นๆ

  • เส้นอูด้ง80 กรัม

  • แตงกวาญี่ปุ่น15 กรัม

  • ผักกาดแก้ว80 กรัม

  • มะเขือเทศ½ ลูก

  • อกไก่ (ต้ม)25 กรัม

  • ไมโครสลัดตบแต่ง

วิธีทำ


เส้นอูด้ง

1.ผสมแป้งกับเกลือในชามผสม ค่อยๆใส่น้ำทีละนิด นวดแป้งให้เข้ากัน เนื่องจากน้ำที่ใช้มีจำนวนน้อย แป้งอาจจะดูยังไม่เข้ากันดีให้ใส่แป้งลงในถุงพลาสติกที่สะอาดและมีขนาดใหญ่กว่าแป้ง

2.วางถุงแป้งลงที่พื้นสะอาดใส่เท้านวดแป้งประมาณ 5 นาทีโดยใช้น้ำหนักตัวกดลงไปแป้งจะเนียนและเข้ากันดีพักแป้ง 1 ชั่วโมง

3.นวดแป้งด้วยเท้าอีก 5 นาที

4.นำแป้งออกจากถุงใช้ไม้คลึงแป้งให้มีความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร (ถ้าต้องใช้แป้งนวลให้ใช้เป็นแป้งข้าวโพด)

5.พอแป้งหนาเท่ากันทั้งแผ่นใช้แป้งข้าวโพด ลูบให้ทั่วแผ่นแป้ง พับแบ่งเป็นครึ่ง ใช้มีดตัดแป้งให้มีความกว้างของเส้นประมาณ ½เซนติเมตร

6.ต้มน้ำจนเดือดดี นำเส้นอูด้งลงไปต้มประมาณ 5-6 นาที ขึ้นอยู่กับความหนาของเส้น

7.สะเด็ดน้ำแล้วล้างด้วยน้ำเย็น ใช้มือซักเส้น (ลักษณะเดียวกับซักผ้า) ให้แป้งที่ติดตามเส้นหลุดออกหมด


น้ำสลัดงา

1.คั่วงาขาวให้หอมดี บดในครกญี่ปุ่น (Suribashi) กับน้ำตาลทราย

2.ใส่น้ำส้มสายชูข้าว โชยุสีอ่อนและน้ำมันงาลงไป คนให้เข้ากัน

3.ถ่ายน้ำสลัดใส่ชามผสมค่อยๆ หยอดน้ำมันงา และน้ำมันรำข้าวลงไป ใช้ตะกร้อตีให้เข้ากัน (ไม่ควรใช้ตะกร้อลงไปตีใน Suribashi เพราะอาจจะทำให้กร่อนได้ จึงควรที่จะถ่ายใส่ชามผสมก่อนที่จะใส่น้ำมัน)นำส่วนประกอบอื่นๆ ไปคลุกเคล้ากับน้ำสลัด ตักใส่จานเสิร์ฟ (การหั่นผัก สามารถหั่นตามใจชอบครับ ส่วนไก่ต้ม ให้ฉีกเป็นเส้นเล็กๆ แต่ถ้าอยากใส่เป็นชิ้นก็ได้เช่นกัน)


หมายเหตุ : คนญี่ปุ่นใช้งาในการตกแต่งหรือประกอบอาหารหลากหลายชนิด ก่อนใช้ก็จะนำไปคั่วจนหอม หลายๆครั้งก็จะนำไปบดต่อในครกญี่ปุ่นที่เรียกว่า Suribashi

1.Suribashi จะมีลักษณะคล้ายชามภายในจะเป็นลอนเล็กๆ คมเวลาใส่งาลงไป จะใช้ไม้ที่มีลักษณะคล้ายสากกดลงไปและบดเมล็ดงาให้แตกตามลอนเหล่านั้น ถ้าไม่มีสามารถใช้ครกแบบไทยๆ ก็ได้เช่นกัน ไม้ที่ใช้คู่กับ Suribashi นอกจากจะเป็นไม้ที่มีลักษณะคล้ายสากแล้ว คนญี่ปุ่นก็ยังใช้ก้านไม้ของ Sancho (เครื่องเทศชนิดหนึ่งของญี่ปุ่น) ซึ่งมีลักษณะคล้ายสากในการบดก็ได้สิ่งที่จะได้รับเพิ่มขึ้นก็คือ ความหอมจากก้านของ Sancho นั่นเอง


แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply