Tips & Tricks

Tips & Tricks

How to use chocolate in your recipes เคล็ดลับสู่ความสำเร็จของการใช้ช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตเปรียบเหมือนอาหารจากสวรรค์ มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำไปแปลงเป็นของหวานได้หลากหลายชนิด เลือกช็อกโกแลตที่ถูกชนิด ช่วยให้ของหวานของเรามีรสชาติที่ดีกว่า เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การใส่ใจในสิ่งต่อไปนี้ 1.เลือกชนิดของช็อกโกแลตที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ถ้าสูตรของหวานที่เราทำนั้น มีบ่งบอกประเภทของช็อกโกแลตที่ใช้ เราก็ควรจะใช้ชนิดนั้นๆ ให้ถูกต้อง การใช้ช็อกโกแลหรือแม้กระทั่งชนิดของผงโกโก้ที่แตกต่าง สามารถทำให้รสชาติและเนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป ในกรณีที่เราต้องการที่จะใช้ช็อกโกแลตหรือผงโกโก้ที่แตกต่างจากสูตรนั้น สามารถทำได้ แต่เราจะต้องรู้เทคนิคในการทดแทน ปรับเปลี่ยน และลดเพิ่มส่วนประกอบอื่นๆ ในสูตรให้เหมาะสม ถ้าสูตรให้เราใช้ช็อกโกแลตคูเวอร์เจอร์ (Couverture) แต่เรามีช็อกโกแลตคอมพาวด์ (Compound) เราก็อาจจะใช้ทดแทนกันได้ แต่เราจะต้องดูว่า การเปลี่ยนแปลงจากไขมันโกโก้ (Cocoa Butter) มาเป็นไขมันจากน้ำมันพืชนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญของสูตรของหวานนั้นๆ เช่นเดียวกับผงโกโก้ เราต้องรู้ว่าในสูตรนั้นๆ ต้องการผงโกโก้แบบธรรมชาติ (Natural Cocoa Powder) ซึ่งมีรสเปรี้ยวอ่อนๆ และมีค่าความเป็นกรด หรือผงโกโก้แบบผ่านการลดกรด (Dutch Process Cocoa Powder) ซึ่งการปรับประเภทของผงโกโก้ที่เราใช้ อาจจะทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนจำนวนของผงฟูและเบกกิ้งโซดาในสูตร ซึ่งเราจะสังเกตุได้ว่า สูตรที่บอกให้ใช้ผงโกโก้แบบธรรมชาติ (Natural Cocoa Powder) มักจะมีส่วนประกอบของเบกกิ้งโซดา เพื่อลดความเป็นกรดของผงโกโก้ สูตรที่บอกให้ใช้ผงโกโก้แบบผ่านการลดกรด (Dutch Process Cocoa Powder) หรือบางครั้งก็จะเรียกว่า Alkalized Cocoa Powder ส่วนใหญ่จะใช้ผงฟู เพราะผงโกโก้แบบนี้ มีค่าความกลางอยู่แล้ว และสำหรับช็อกโกแลตเองนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน เลือกช็อกโกแลตที่มีลักษณะผิวสวยเป็นเงา ถ้ามีจุดฝ้าๆ ตามผิว ในทางเทคนิคคือสิ่งที่เรียกว่า Bloom ซึ่งอาจจะเกิดจากการ Bloom ของน้ำตาล (Sugar Bloom) หรือไขมันในช็อกโกแลต (Fat Bloom) ถ้าเรานำช็อกโกแลตไปละลายก่อนใช้ จุดเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อรสชาติแต่อย่างใด แต่ถ้าเรานำไปใช้แต่งหน้าขนมโดยตรง ก็จะทำให้ช็อกโกแลตของเรามีสีที่ไม่เงาสวย ก็เท่านั้นเอง 2.อุณหภูมิและความชื้นมีผลกับช็อกโกแลต ปกติแล้ว เราจะต้องเก็บช็อกโกแลตในที่ๆ แห้ง ไม่ชื้น และไม่ร้อน อุณหภูมิในพื้นที่ที่เราใช้ช็อกโกแลตควรอยู่ที่ประมาณ 18-20 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าค่อนข้างเย็นสำหรับบ้านเรา และภาชนะ หม้อ หรือเครื่องมือที่เราใช้ทำช็อกโกแลตควรจะแห้ง ไม่มีหยดน้ำหรือความชื้น 3. ชั่งน้ำหนักให้ถูกต้อง ปริมาณของช็อกโกแลตที่ใช้เป็นเรื่องสำคัญ เครื่องชั่งแบบดิจิตอลมีความละเอียดมากกว่าแบบเข็ม ซึ่งอาจจะมีความคาดเคลื่อนทางสายตาได้ โดยทั่วไป เครื่องชั่งแบบดิจิตอลจะมีปุ่ม Tare ที่เราสามารถลดน้ำหนักให้เป็นศูนย์ก่อนการชั่งส่วนประกอบ ต้องรอบคอบและระมัดระวังเพื่อไม่ให้น้ำหนักของช็อกโกแลตที่เราใช้ผิดพลาด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลลัพธ์ที่ได้เช่นกัน 4. การสับช็อกโกแลต ช็อกโกแลตมีในหลากหลายรูปทรง มีทั้งแบบเป็นเหรียญเล็กๆ พร้อมให้ละลาย หรือเป็นตารางพร้อมให้หักเป็นชิ้นเล็ก หรือมาเป็นแท่งใหญ่ การที่เราจะนำช็อกโกแลตไปละลาย เราควรให้ช็อกโกแลตที่ชิ้นที่ไม่ใหญ่มากเกินไป และขนาดควรจะใกล้เคียงกัน เมื่อนำไปละลายจะได้ใช้เวลาไม่นาน และละลายได้ดี 5. คนช็อกโกแลตในเวลาที่เหมาะสม ในเวลาที่เราในช็อกโกแลตไปละลาย ในช่วงแรกที่ช็อกโกแลตเริ่มละลาย เรายังไม่ควรจะคน คอยจนช็อกโกแลตละลายสัก 50% แล้วจนคนเบาๆ ด้วยพายยยาง (ไม่ควรใช้ช้อนไม้ เพราะช้อนไม้อาจจะมีความชื้นอยู่) การคนจะช่วยให้ช็อกโกแลตในส่วนที่เป็นไขมัน และของแข็งกระจายทั่วกันดี นอกจากนั้น ยังเป็นการทำให้อุณหภูมิของช็อกโกแลตทั้งหมดเท่ากันด้วย และสำหรับสูตรที่ต้องการให้ช็อกโกแลตที่ไม่ร้อนเกิน การคนก็ช่วยให้ช็อกโกแลตเย็นตัวได้เร็วขึ้นด้วย

Tips & Tricks

Basic Mixing Method พื้นฐานการผสมส่วนประกอบ

ในปัจจุบัน การอบขนมรับประทานเองที่บ้านเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากขนมอบแบบฝรั่งไม่ใช่วัฒนธรรมของบ้านเรา เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับเทคนิคที่เขาใช้เท่าไรนัก จริงๆ แล้วเทคนิคในการอบขนมไม่มีอะไรซับซ้อนมากมาย ถ้าเราเข้าใจหลักการทำงานเหล่านี้ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการผสมส่วนประกอบต่างๆ ก่อน หลังจากที่เราได้ชั่วตวงวัตถุดิบต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เราก็จะนำส่วนประกอบต่างๆ มาผสมเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นข้อใดข้อหนึ่งต่อจากนี้ ทำให้ส่วนประกอบทุกอย่างกระจายทั่วๆ ดี ในกรณีที่เรามีส่วนประกอบหลายอย่าง รักษาอากาศหรือคุณสมบัติของการเพิ่มอากาศของส่วนประกอบที่อยู่ในส่วนผสมไว้ให้มากที่สุด ทำให้ส่วนประกอบทุกอย่างผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ให้หรือไม่ให้กลูเตนทำงาน แป้งสาลี ประกอบไปด้วยอนุภาคของโปรตีน ไกลอะดิน (Gliadin) และกลูเตนิน (Glutenin) ซึ่งเมื่อถูกนำไปผสมกับของเหลวจะกลายเป็นกลูเตน (Gluten) การเกิดกลูเตนเป็นลักษณะเฉพาะของแป้งสาลี กลูเตนทำหน้าที่ช่วยกักและรักษาอากาศที่เกิดจากส่วนประกอบที่ช่วยเพิ่มอากาศ (เช่น ผงฟู หรือเบกกิ้งโซดา) และเพิ่มความยึดหยุ่นให้กับเนื้อสัมผัส อย่างเค้กโรลที่เวลาม้วนและไม่แตกออกจากกัน ก็เพราะมีกลูเตนช่วยเพิ่มความยึดหยุ่น การผสม (mixing) มีหลากหลายวิธี แต่ละวิธีต่างให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน การคน (Stirring) เป็นวิธีพื้นฐานในการผสมให้ส่วนประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ช้อนคนในลักษณะเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ  การตี (Beating) เป็นเทคนิคที่คล้ายกับการคน แต่จะมากทิศทางมากกว่า หน้าไปหลัง บนลงล่าง หมุนไปรอบๆ ปกติแล้วเป็นเทคนิคที่ต้องใช้เครื่องผสมอาหาร (หัวตีใบพัด)  การปั่น (Blending) เป็นเทคนิคที่ส่วนประกอบทุกอย่างถูกผสมให้เข้ากันจนกลายเป็นหนึ่ง การตีให้เป็นครีม (Creaming) เป็นเทคนิคในการผสมให้ไขมันและน้ำตาลทรายเข้ากัน และมีลักษณะที่เบาฟูขึ้น และมีสีที่อ่อนลง เช่น การตีเนยกับน้ำตาลทราย การสับ (Cutting in) เป็นการทำให้ไขมันแทรกทั่วๆ ส่วนผสมของแห้ง โดยการใช้ที่สับแป้ง (bench scraper) ใช้มีดสองเล่มตัดไปมา หรือใช้เครื่องบดสับอาหารโดยใช้ใบมีดพลาสติก เช่น การทำชอร์ตเบรด (Shortbread) หรือแป้งพาย (Pie Crust) การวิ้ป (Whip or Whisk) เป็นการเพิ่มอากาศให้กับครีม หรือไข่ไก่ โดยทั่วไปจะใช้เครื่องผสมอาหาร (หัวตีตะกร้อ) หรือตะกร้อมือ การตะล่อม (Folding) เป็นการผสมส่วนประกอบสองอย่างเข้าด้วยกัน โดยรักษาอากาศไว้ให้ได้มากที่สุด เช่น การตะล่อมวิ้ปครีมเข้ากับคัสตาร์ด เป็นต้น การนวด (Kneading) เป็นการผสมส่วนประกอบโดยใส่น้ำหนักลงไปเพื่อทำให้กลูเตนที่อยู่ในตัวแป้งพัฒนา

Tips & Tricks

Tempering Chocolate การเทมเปอร์ช็อกโกแลต

ช็อกโกแลต ขนมหวานยอดนิยมที่ใครๆ ก็หลงในรสชาติขมอมหวาน นอกจากการนำช็อกโกแลตมาทานเป็นของทานเล่น หรือใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงขนมหวาน หรืออาหารแล้ว ช็อกโกแลตยังนิยมใช้สำหรับการตกแต่งจานของหวานอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำเป็นแผ่นบางเพื่อแต่งหน้า หรือการนำไปขึ้นรูปให้เป็นรูปทรงสามมิติต่างๆ หลายคนอาจจะเคยนำช็อกโกแลตมาละลาย และนำไปทำเป็นแผ่นบางเพื่อตกแต่งจานขนมเหมือนกับในร้านอาหารต่างๆ แต่ผลที่ได้กลับไม่เหมือนกับตามร้านอาหาร สีของช็อกโกแลตขาดความเงา และเนื้อสัมผัสมีความนุ่มจนเกินไป นั่นเป็นเพราะช็อกโกแลตที่ทำนั้นเย็นตัวเร็วเกินไป ทำให้โมเลกุลไขมันในช็อกโกแลตไม่สามารถจับตัวกันได้อย่างดี ช็อกโกแลตนั้นเป็นวัตถุดิบที่มีความละเอียดอ่อนต่ออุณหภูมิเป็นอย่างมาก อุณหภูมิที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้ผลลัพธ์ที่ได้นั้นแตกต่างกันอย่างมาก การเทมเปอร์ริงช็อกโกแลต (Tempering Chocolate) นั้น เป็นการควบคุมอุณหภูมิในการเย็นตัวของช็อกโกแลตอย่างแม่นยำ เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสและคุณลักษณะของช็อกโกแลตที่ดี ตัวอย่างเช่น ดาร์กช็อกโกแลตทั่วไปจะถูกทำให้อยู่ที่อุณหภูมิ 31-32 องศาเซลเซียส ก่อนการใช้งาน ซึ่งเมื่อนำไปขึ้นรูปหรือใช้งาน จะทำให้ได้ช็อกโกแลตที่มีความเงาและเนื้อสัมผัสที่ดี โดยวิธีการ Tempering นั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน นำช็อกโกแลตใส่ภาชนะที่สะอาด และแห้งดี นำไปละลายให้ได้อุณหภูมิระหว่าง 46-50 องศาเซลเซียส ลดอุณหภูมิของช็อกโกแลตลงมาที่ 27 องศาเซลเซียส โดยการทำงานบนแผ่นหินอ่อนที่เย็น ขั้นตอนสุดท้ายคือ ขั้นที่สำคัญที่สุด โดยการดึงอุณหภูมิขึ้นมาที่ 31-32 องซาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่พร้อมใช้งาน หมายเหตุ อุณหภูมิในตัวอย่างนี้ เหมาะกับดาร์กช็อกโกแลตที่มี Cocoa Solid ไม่เกิน 70% ในกรณีของมิลก์ช็อกโกแลตหรือไวท์ช็อกโกแลต อุณหภูมิที่ใช้จะแตกต่างกันไป

Tips & Tricks

Decorate Sweets With Fruit สวยเห็นผล

ผลไม้แต่งหน้าของหวานสามารถเพิ่มคุณค่า รสชาติ สัมผัส สีสัน และความสดใสให้แก่ของหวานของเราได้ เราสามารถใช้ผลไม้แต่งหน้าขนมหวานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าทาร์ต ชีสเค้ก เครปเค้ก หรือสปัจน์เค้กโดยการจัดเรียงผลไม้ลงบนของหวานโดยตรง หรือจะปาดครีมสด จะเคลือบหน้าของหวานด้วยช็อกโกแลตก่อนก็ได้เช่นกัน การใช้ผลไม้แต่งหน้าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำตาล เพราะผลไม้โดยทั่วไปจะมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลขึ้นรูปที่ใช้ตกแต่งของหวาน และเพื่อเพิ่มความงดงามให้กับผลไม้ที่เราเลือกใช้ เราสามารถโรยน้ำตาลไอซิ่งบางๆ หรือจะเคลือบเงาชิ้นผลไม้ก่อนก็ได้เช่นกัน ผลไม้แทบทุกชนิดสามารถใช้ตบแต่งของหวานได้ สิ่งที่เราควรพิจารณาคือ ผลไม้นั้นมีสีสันและรสชาติที่เข้ากับของหวานของเราหรือไม่ ชิ้นของผลไม้ควรมีขนาดที่พอเหมาะ ถ้าเป็นผลไม้ผลใหญ่ เราสามารถตัดแต่งให้เล็กลง หรือใช้ที่ควักแตงโมตักให้เป็นก้อนกลมได้ ผลไม้ที่มีน้ำเยอะเมื่อนำประดับหน้าของหวาน ไม่ควรจะเก็บข้ามวัน และสำหรับผลไม้ที่สีคล้ำขึ้นเมื่อโดนอากาศ เราควรที่จะเคลือบผิวเสียก่อน ผลไม้ที่นิยมนำมาตกแต่งของหวานได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กีวี่ มะม่วง ส้ม องุ่น เมลอน มะเฟือง หรือแม้กระทั่งแก้วมังกร ผลไม้ที่ใช้ในการตกแต่งหน้าของหวาน ต้องอยู่ในสภาพพร้อมรับประทาน ทำความสะอาดดีแล้ว ถ้าเปลือกไม่สามารถรับประทานได้ เช่น แก้วมังกร มะม่วง หรือกีวี่ ต้องปอกให้เรียบร้อยเสียก่อน ผลไม้ผลเล็ก เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ทั้งหลาย สามารถใช้ทั้งผลได้ แต่ถ้าเป็นสตรอว์เบอร์รี่ นอกจากใช้ทั้งผล เราสามารถหั่นครึ่ง หั่นสี่ หรือจะซอยบางๆ แล้วคลี่เป็นพัดก็ได้ ในกรณีที่เราต้องการเคลือบชิ้นผลไม้ให้เงางาม เราสามารถทำเกลซ (Glaze) หรือน้ำเชื่อมเข้มข้นอย่างง่ายๆ เองได้ โดยการละลายแยมครึ่งถ้วยกับน้ำสะอาด 2 ช้อนโต๊ะ กรองแล้วตั้งบนไฟอ่อนให้ส่วนผสมข้นพอที่จะเคลือบเกาะผลไม้ได้ จากนั้นจึงใช้แปรงทาลงบนผลไม้อย่างเบามือ หรือจะนำชิ้นผลไม้จุ่มลงไปโดยตรงก็ได้ แยมที่นิยมใช้ในการทำน้ำเชื่อมเข้มข้น ได้แก่ แยมแอพริคอต และแยมผิวส้มซึ่งเป็นแยมที่มีสีอ่อน แต่หากต้องเพิ่มสีแดงให้ผลไม้ เราสามารถใช้แยมสตรอว์เบอร์รี หรือราสป์เบอร์รี่ก็ได้เช่นกัน นอกจากแยมประเภท Jam (ผลไม้บด) หรือ Preserve (ผลไม้ทั้งผล) แล้วเรายังสามารถแยมแบบที่ไม่มีเนื้อผลไม้ หรือทำจากน้ำผลไม้ เช่น Grape Jelly (เยลลี่องุ่น)  ก็ได้เช่นกัน

Tips & Tricks

Salt Hints เรื่องของเกลือ

เมื่อนึกถึงความเค็ม ภาพของเกลือเกร็ดเล็กเกร็ดใหญ่ก็จะลอยเข้ามาในหัว เกลือเป็นเครื่องปรุงพื้นฐานที่ให้รสเค็มที่มีความเป็นกลางที่สุด นอกจากบทบาทของการเป็นเครื่องปรุงรสแล้ว เกลือยังมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญอีกมากมาย และนี่ก็คือเรื่องของเกลือที่อยากนำมาฝากกันครับ 1. เวลาไปตามร้านอาหาร หลายๆ ร้านมักใส่เม็ดข้าวสารในขวดของเกลือ ด้วยเหตุผลว่า เมื่อเกลือโดนความชื้นมักจะจับตัวกันเป็นก้อน การใส่ข้าวสารเล็กน้อย เวลาที่เขย่าจะช่วยให้เกลือไม่จับตัวกัน และข้าวสารยังช่วยดูดความชื้นอีกด้วย 2. เกลือมีคุณสมบัติในการช่วยถนอมอาหาร โดยทั่วไป เกลือที่ไม่ได้ปรุงแต่งรสใดๆ มีอายุที่ยาวนานมาก ส่วนแบบที่มีส่วนประกอบอย่างอื่นผสมจะมีอายุเฉลี่ยประมาณหนึ่งปี 3. เวลาที่เราปรุงอาหารชามน้ำ เช่น ซุปหรือน้ำแกงต่างๆ แล้วใส่เกลือมากเกินไป วิธีแก้คือ ปอกมันฝรั่งใส่ลงไปต้มประมาณ 15 นาที มันฝรั่งจะช่วยดูดรสเกลือได้เล็กน้อย 4. ซอสที่ใส่เกลือมากเกิน สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มครีม เติมน้ำตาลทราย หรือน้ำส้มสายชู จะช่วยได้เล็กน้อย 5. เวลาปรุงเมนูน้ำที่ต้องใช้เวลาเคี่ยวนาน พยายามอย่าใส่เกลือมากในช่วงต้น เพราะเมื่อน้ำข้นขึ้น ความเค็มจะเพิ่มขึ้นตาม 6. เกลือช่วยชูให้รสชาติต่างๆ ของอาหารดีขึ้น เวลาที่บทบาทของเกลือคือการดึงให้รสชาติอื่นเด่นขึ้น เราจะใส่เกลือแค่หยิบมือ หรือเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเราไม่ต้องการรสเค็ม 7. เกลือช่วยดูดน้ำออกจากผัก เวลาที่เราโรยเกลือบนผักที่มีน้ำมากอย่างมะเขือม่วง หรือแตงกวา แล้วทิ้งไว้ จะเห็นว่าน้ำจะไหลออกมา ดังนั้นเวลาที่เราปรุงผักเหล่านี้ และต้องการให้ผักยังอมน้ำมากๆ ให้ใส่เกลือในช่วงท้ายของการปรุง แต่ถ้าต้องการให้น้ำออกจากผัก ให้ใส่ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการปรุง 8. เวลาที่เราจะใส่เกลือในน้ำต้มเส้นพาสต้า หรือต้มผัก ให้ใส่ตอนที่น้ำเดือดแล้ว เพราะเกลือจะทำให้น้ำเดือดช้าขึ้น 9. เวลาอาหารมีอุณหภูมิที่ต่ำลง รสชาติเค็มจะน้อยกว่าตอนที่ร้อน 10. อย่าเก็บเกลือในภาชนะที่ทำจากเงิน เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาคลอไรด์จะทำให้เกิดเป็นจุดเขียวๆ

Tips & Tricks

ครีมพื้นฐานในขนมหวานแบบฝรั่งเศส

หลายครั้งที่ผู้เขียนต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องครีม โดยเฉพาะครีมที่ถูกตีให้ฟู แล้วใช้แต่งหน้าของหวานที่เราอาจจะคุ้นเคยในชื่อที่เรียกว่า วิปครีม ในทางเทคนิคของการทำของหวาน วิปครีมที่เรารู้จักเขาเรียกว่า Crème Chantilly (ครีมชานทิลลี่) ซึ่งก็คือครีมที่ถูกปรุงรสหวานอ่อนๆ และหลายๆ ครั้งก็จะมีกลิ่นหอมของวานิลลาอยู่ในนั้นด้วย การตีครีมชานทิลลี่ จะว่ายากก็ยาก เพราะถ้าเราตีเกิน ครีมจะแตก และไม่สามารถนำมาใช้งานได้ เป็นลักษณะอาการที่เราเรียกว่า Over-whipping ครีมชานทิลลี่ที่ดี จะมีลักษณะที่ดูคล้ายเมอแรง แต่ไม่เหนียวเท่า เพราะมีปริมาณน้ำตาลไม่มากเท่าเมอแรง หลักในการตีครีมชานทิลลี่ที่เราควรให้ความใส่ใจนั้น มีไม่กี่ข้อครับ 1. ใช้ครีมที่สดใหม่ ครีมที่ใช้นั้น ควรเป็นผลิตภัณฑ์ Dairy หรือมาจากวัว ไม่ใช่ Non-Dairy Cream หรือครีมที่ทำจากน้ำมันพืช ซึ่งจะมีรสที่แตกต่าง เวลาซื้อครีมนั้น เราก็ต้องดูด้วยว่าครีมนั้นเหมาะในการทำเบเกอรี่หรือของคาว เพราะครีมที่ใช้ทำของคาวจะเหมาะกับการทำซอส หรือซุปมากกว่า มีสรรพคุณที่สามารถทนความร้อนได้ดี ไม่แตกง่าย เมื่อนำมาตี จะขึ้นฟูยาก 2. สัดส่วนครีม 300 มิลลิลิตร สามารถใส่น้ำตาลได้ 1-2 ช้อนโต๊ะ แล้วแต่ความหวานที่ต้องการ และสามารถใส่กลิ่นหอมของวานิลลาลงไปได้ประมาณ ½ ช้อนชา 3. ครีมต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เย็น ถ้าครัวของเราร้อน แนะนำให้ใช้ชามผสมใบใหญ่ใส่น้ำแข็งหล่อโถที่เราใช้ใส่ครีมไว้อีกที ตัวหัวอุปกรณ์ตะกร้อที่จะใช้ตีครีม ถ้าสามารถนำไปแช่เย็นล่วงหน้า จะมีส่วนช่วยอย่างยิ่ง 4. ในการตีครีม ให้วางโถตีบนผ้าที่ชุบน้ำหมาดเพื่อความมั่นคง และป้องกันไม่ให้โถที่ใส่ครีมเคลื่อนไปมา ยกเว้นกรณีที่เราตีในเครื่องแบบตั้งโต๊ะ 5. ในการตีครีม จังหวะที่ครีมเริ่มที่จะข้นขึ้น ให้ใช้ความเร็วต่ำ เพราะถ้าเราตีเกิน เราจะแก้ไขลำบาก ในบางกรณี การใส่นมลงไปผสมประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อ 300 มิลลิลิตร ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการตีครีมแตกได้ ครีมชานทิลลี่ สามารถนำไปประกอบของหวานต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าป็นไส้เอแคลร์ ไส้เครปเค้ก ตกแต่งหน้าเค้ก หน้าไอศกรีม

next

End of content

No more pages to load